นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม บริหารงานด้วยความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วน ได้เสียทุกฝ่ายตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
ตลอดจนสื่อสารและสนับสนุนให้บุคลากรทุกระดับของบริษัทและบริษัทย่อยมีจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจึงได้กำหนดนโยบายฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของ บริษัททุกคนได้ถือปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
“ การทุจริต ” หมายถึง การแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือ ผู้อื่น
“ การคอร์รัปชัน ” หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นการให้ หรือรับสินบน ไม่ว่าจะโดยการให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวกระทำ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท ตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก หรือเพื่อประโยชน์ของธุรกิจโดยมิชอบ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนมธรรมเนียมประเพณี หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
“ สินบน ” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีมูลค่า หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
นโยบายฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยนำหลักการตามโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร
บริษัทไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนดำเนินการ ยอมรับ หรือให้การสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการเรียกร้อง หรือยอมรับ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร ตนเอง ครอบครัว เพื่อน คนรู้จักหรือเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ โดยครอบคลุมทุกธุรกิจทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัทและบริษัทย่อย เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้มา หรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง โดยบริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการ กระทำนั้นจะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม ตลอดจนให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดของกฎหมาย และภายใต้ศีลธธรรมอันดี ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือกับการทุจริตคอร์รัปชัน จะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบข้อบังคับที่บริษัทกำหนดไว้ และ/หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานทุกคน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานแทนในนามบริษัท หรือบุคคลที่ได้รับการว่าจ้างในลักษณะสัญญาชั่วคราว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะไม่กระทำหรือสนับสนุนการทุจริต หรือคอร์รัปชัน ไม่ว่ากรณี ใดๆและจะปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด
- ปลูกจิตสำนึกและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ซื่อสัตย์และยึดมั่นในความเป็นธรรม
- สื่อสารให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน รับทราบ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและนำไปปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน และเพื่อส่งเสริมบุคลากรของบริษัทให้มีความชื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่และนำหลักการตามนโยบายที่บริษัทกำหนด เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร
- บริษัทจะจัดให้มีการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ระบบการควบคุมภายในช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบและช่วยค้นหาข้อบกพร่อง รวมถึงให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี และนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
- บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธ หรือแจ้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ด้วยมาตรการและแนวปฏิบัติของบริษัทอย่างเต็มความสามารถและเท่าที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัท
- นโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ เป็นส่วนเพิ่มเติมของจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท และถือเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบวินัยในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัท หากผู้ใดละเลย ละเว้น และมีเจตนา ที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของบริษัท จะถือว่ากระทำผิดวินัยและพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัท และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดข้อกำหนดของกฎหมาย
- พบเห็นการกระทำที่ทุจริตที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม เช่น พบเห็นบุคลากรในองค์กรติดสินบน รับสินบนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาล หรือหน่วยงานเอกชน
- พบเห็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบปฏิบัติของบริษัท หรือมีผลต่อระบบบการควบคุม ภายในของบริษัท จนทำให้สงสัยได้ว่าอาจจะเป็นช่องทางในการทุจริต
- พบเห็นการกระทำที่ทำให้บริษัท เสียผลประโยชน์ และ/หรือ กระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท
- พบเห็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ
บริษัทจัดให้มีช่องทางการรับเรื่อง แจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นกับบริษัท ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ผ่านช่องทางการรับเรื่องที่กำหนด โดยผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่จะแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน แต่หากเปิดเผยจะทำให้บริษัทสามารถแจ้งผลการดำเนินหรือรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องที่ร้องเรียนให้ทราบได้ โดยส่งมาตามช่องทางรับเรื่อง ดังนี้
สำหรับบุคคลทั่วไป :
- ส่งผ่านไปรษณีย์ระบุหน้าซองถึงผู้รับแจ้งเบาะแสท่านใดท่านหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการตรวจสอบ
- ประธานกรรมการบริหาร
- เลขานุการบริษัท โดยส่งมายังที่อยู่ของบริษัท บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 244 ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230 หรือส่งมายังอีเมล fraud@prinsiri.com
สำหรับพนักงาน :
- สามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชันและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารได้โดยตรง หรือ
- ส่งมายังอีเมล fraud@prinsiri.com
ทั้งนี้ บุคคลที่สามารถแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน คือ ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัท ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ ภาครัฐบาล ชุมชน สังคม ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย และไม่ว่าท่านจะแจ้งด้วยวิธีใดดังกล่าวข้างต้น บริษัทจะรักษาข้อมูลที่ท่านแจ้งไว้เป็นความลับที่สุด
บริษัทมีมาตรการคุ้มครองดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่ร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสมายังบริษัทดังต่อไปนี้
- บริษัท จะเก็บข้อมูลและตัวตนของผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน หรือผู้ถูกร้องเรียนเป็นความลับ
- บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้รายงาน แหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ได้รับความเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหาย ด้วยกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม
- กรณีที่ผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหาย ผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถร้องขอให้บริษัทกำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมก็ได้ หรือบริษัท อาจกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ต้องร้องขอก็ได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเดือดร้อนเสียหาย หรือความไม่ปลอดภัย
- บริษัท จะไม่กระทำการใดๆ อันไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- เมื่อบริษัท ได้รับการแจ้งเบาะแส คณะกรรมการบริหาร หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย และคณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้กลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริง
- หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มี มีเหตุอันควรเชื่อถือได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหา ได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้สิทธิได้พิสูจน์ตนเอง เพื่อหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติม ที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตคอร์รัปชันตามที่ถูกกล่าวหา
- หากบริษัท ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการจริง และการกระทำนั้นถือเป็นการกระทำผิดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และ/หรือจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบที่บริษัท ได้กำหนดไว้และหากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาอาจจะได้รับโทษทางกฎหมาย
- การร้องเรียนหรือชี้เบาะแสที่เป็นความเท็จ หากเป็นบุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย จะได้รับการลงโทษทางวินัยตามกฎระเบียบของบริษัท แต่หากเป็นบุคคคลภายนอกที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อบริษัท จะมีการพิจารณาดำเนินคดีตามความเหมาะสม
- ในกรณีที่การร้องเรียนบุคคลที่กระทำผิดมีตำแหน่งในระดับผู้บริหารขึ้นไป คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่ในการรับเรื่อง หาข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้ง เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ให้ร่วมกันพิจารณาและกำหนดโทษตามที่เห็นสมควร
เพื่อให้บุคลากรของบริษัททุกคน ได้รับทราบนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทจะดำเนินการดังต่อไปนี้
- เผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น อีเมล, เว็บไซต์ของบริษัท , รายงานประจำปี เป็นต้น
- จัดให้มีการอบรมนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่พนักงานทุกคน
- ทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกปีและเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติหากมีการเปลี่ยนแปลง
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันฉบับนี้ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป